Detangle

A photographic expression

คำถามที่สำคัญที่สุดคืออะไร?

Image

น้องชายของผม เป็นนักเรียนไทยคนแรกที่ได้เหรียญจากการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ เรียนจบปริญญาตรีฟิสิกส์คะแนนสูงสุดของปีที่มหิดล มีบทความวิชาการตีพิมพ์ลง Journal วิชาการนานาชาติตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรี เรียนจบปริญญาโทฟิสิกส์ทฤษฎีด้วยเกรด 4.00 จากเนเธอร์แลนด์ โดยได้คะแนนวิทยานิพนธ์สูงเท่ากับอดีตนักศึกษาร่วมสถาบันที่ตอนนี้เป็นนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล

ก่อนจะกลับไปเรียนต่อปริญญาเอก น้องชายของผมได้บวชเป็นพระภิกษุ พอครบกำหนดสึก เขาได้ตัดสินใจว่าจะเป็นพระต่อไป

มนุษย์ตั้งแต่โบราณอยากเข้าใจเรื่องที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจทั่วไป แต่เป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญ ตาเรามองเห็นอะไร วัตถุประกอบขึ้นจากอะไร เวลาคืออะไร สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร จักรวาลเริ่มอย่างไร มีจุดสิ้นสุดไหม…

เราถามคำถามเหล่านี้ ไม่ได้ด้วยความสงสัยลอยๆ แต่ด้วยความเข้าใจ ว่าการตอบคำถามเหล่านี้ได้ จะทำให้เราเข้าใจว่า เราเกิดมาทำไม?

ผมจำได้ว่าในวัยเด็ก มีอยู่สองสามครั้งที่ผมตกอยู่ในภวังค์ และนึกถึงคำถามนี้ เราเกิดมาทำไม? ผมรู้สึกตัวเองลอยเคว้างคว้างอยู่ในความมืดสนิท โยกโยนไปมา ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงดวงตานั้นเปิดอยู่

เมื่อเข้าสู่สภาวะที่เราตั้งคำถาม ว่าผมเกิดมาทำไม จำได้ว่าผมตกใจกลัวสุดขีด มันเป็นความกลัวที่สั่นสะเทือนไปทั้งร่างกายและจิตใจ ความกลัวที่หยั่งลึกไม่มีจุดจบ มีความเข้มข้นและความกว้างขวางเหลือประมาณ เรารู้สึกว่าเราไม่มีอยู่จริง ไม่ใช่ใครเลย แต่ก็ขัดกับสิ่งที่เราสัมผัสว่าเรามีตัวตน มันเป็นความย้อนแย้ง ขัดแย้ง ที่ไม่มีสิ่งใดเทียบได้

หน้าที่ของการเกิดมา คือต้องกล้าที่จะตั้งคำถาม ว่าทำไมเราถึงเกิดมา? และหาคำตอบนั้นให้พบ แต่ละคนอาจสรรหาคำตอบสวยหรูมาได้ เช่น เกิดมาประสบความสำเร็จ เกิดมามีความสุข เกิดมาทำบุญ เกิดมามอบความสุขให้คนที่รัก…

แต่คำตอบที่แท้จริงนั้นมีหนึ่งเดียว คือเราเกิดมาเพราะมีเหตุให้เกิด คำตอบที่พระพุทธเจ้าค้นพบนี้เรียบง่ายแสนธรรมดา แต่ลึกซึ้งกินความทุกสิ่งทุกอย่าง คำตอบนี้อธิบายได้ว่าเราเกิดมาทำไม และควรทำอะไรในชีวิตนี้

การกระทำทุกอย่างก่อให้เกิดผล ผลนั้นมีลักษณะเป็นทุกข์ เพราะมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา เสียดสีกับสิ่งต่างๆ เสมอ ผลของการกระทำซึ่งก่อตัวเป็นสิ่งต่างๆ ทั้งที่จับต้องได้และที่จับต้องไม่ได้นั้น อันที่จริงไม่ได้มีตัวตนเป็นของมันเอง เป็นเพียงการรวมตัวของปัจจัยต่างๆ ซึ่งก็ล้วนเป็นผลของการกระทำในอดีตมาอีกทีหนึ่ง

การเกิดเป็นผลจากการกระทำในอดีต และถ้าเราสังเกตดีๆ จะพบว่าการเกิดนั้นเป็นความทุกข์ทั้งสิ้น ความสุขที่แท้เป็นเพียงสภาวะที่ความทุกข์ถูกบรรเทา มีน้อยลง หรืออาจเป็นความทุกข์โดยตัวของมันเองก็ยังได้ เพราะมันคือการปรุงแต่งจากความเป็นจริง ไม่ได้มีอยู่จริง และต้องจากไป

หน้าที่ของคนเรา คือการเรียนรู้ปรากฏการณ์ของเหตุและผล การเกิดและดับของสิ่งต่างๆ ทั้งภายนอกและภายในตัวเรา การเรียนรู้นี้จะทำให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อเราเข้าถึงความเข้าใจที่สมบูรณ์นี้ นั่นคือจุดที่เราจะพ้นจากความทุกข์ เพราะเราแค่เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ โดยไม่ปล่อยให้ใจนั้นนำปรากฏการณ์นั้นไปเชื่อมโยงกับความจำของเราที่ทำให้เกิดอารมณ์ทุกข์ต่างๆ เช่น โลภ โกรธ และหลง

การเป็นพระ คือการนำตัวเองเข้าไปสู่สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้นี้อย่างจริงจัง การเป็นพระต้องใช้ความกล้าหาญขั้นสูงสุดของมนุษย์ คือกล้าที่จะรื้อถอนความเชื่อว่าเรามีตัวตนอยู่จริง กล้าที่จะดำเนินการกำจัดความปรุงแต่งของจิตออกไป ให้เหลือแต่จิตที่บริสุทธิ์ ซึ่งจะไม่มีทางกลับเข้าสู่การปรุงแต่งให้ทุกข์ได้อีกต่อไป

เมื่อถึงเวลานั้น ก็ไม่มีต้นเหตุให้มีการเกิดอีกต่อไป ทำให้เรากลายเป็นอิสระอย่างแท้จริง

พุทธธรรม คือความเข้าใจสรรพสิ่ง คล้ายกับเป้าหมายของวิชาฟิสิกส์ แต่พุทธธรรม อยู่เหนือฟิสิกส์ เพราะเป็นความเข้าใจในระดับที่ลึกที่สุด มูลฐานที่สุด และสำคัญที่สุดต่อมนุษย์ เมื่อได้รู้จักพุทธธรรมแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องศึกษาฟิสิกส์อีกต่อไป

ภาพนี้ถ่ายด้วย Leica MP, Summicron-M 1:2 35mm. ASPH., Fuji NEOPAN 400.

ยายเรียมดูสาวขึ้นทุกวัน

Image

ผมเจอยายเรียมครั้งแรกตอนเดินทางไปพบพ่อแม่ของภรรยาเป็นครั้งแรก ความประทับใจแรกคือยายเรียมเป็นคนแก่หลังค่อม ดูผ่านโลกมามาก และมีจิตใจดี พอผมลงไปครั้งที่สอง ยายเรียมดูแก่น้อยลง มีน้ำเสียงและท่วงท่ากระฉับกระเฉงสดใส มาครั้งที่สามที่เจอยายเรียมคือช่วงวันแต่งงาน ผมถ่ายรูปนี้มา ถามยายเรียมว่าอยากให้ถ่ายรูปยายเรียมตรงไหนของบ้าน ยายเรียมหันไปดูข้างบ้าน บอกว่าไปถ่ายตรงนั้น เป็นสวนพลูของยายเรียมที่ร่มรื่น ยายเรียมยิ้มกว้าง ยืนหลังตรง รูปนี้ถ่ายออกมาแทบไม่เห็นวี่แววของความแก่ชรา เหมือนหญิงกลางคนที่บังเอิญมีผมสีขาว ใบหน้ามีริ้วรอย และใจดี มีีชีวิตที่มีความสุข

อะไรคือความจริง มักซ่อนเร้นอยู่ด้านหลังความประทับใจแรก การใตร่ตรองให้เห็นแน่ชัดถึงสิ่งที่เป็นจริงๆ คือทางไปสู่ความเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง

ภาพนี้ถ่ายด้วย Rolleiflex 3.5F, Planar 1:3.5, Ilford DELTA 100 ฟิล์มขนาด 120 มีขนาดใหญ่กว่าฟิล์ม 135 ถึงเกือบ 4 เท่า กล้อง Medium Format ธรรมดาๆ ยังให้ภาพที่ละเอียดคมชัดกว่ากล้อง 135 ที่ดีที่สุด Rolleiflex เป็นกล้องเยอรมันที่นักข่าวสมัยก่อนชอบใช้ ส่วนในอเมริกาชอบใช้ Hasselblad กัน ผมชอบ Rolleiflex ตั้งแต่ที่เห็นเพราะมันดูแปลกแต่ลงตัว มี “สองตา” คือเลนส์บนเอาไว้ดู และเลนส์ล่างเอาไว้ถ่าย การออกแบบนั้นเรียบง่าย ทนทาน ประณีต แสดงถึงการคิดมาอย่างดีในทุกๆ ส่วนประกอบ เป็นกล้องที่ใช้ง่ายและสนุก สำหรับกล้องตัวนี้เครื่องวัดแสง Selenium ยังใช้ได้อยู่ สามารถวัดแสงได้โดยไม่ต้องใช้ถ่านเลย แต่คลาดเคลื่อนไปบ้างต้องชดเชย ที่สำคัญที่สุด ภาพที่ได้นั้นคม ชัด ละเอียด เนียน มีความต่อเนื่องของโทนดีมาก ไม่คอนทราสต์จัดแต่ก็ไม่น้อยจนเกินไป เหมาะกับการถ่ายภาพบุคคลเป็นอย่างยิ่ง 

ทำไมไม่นั่งเก้าอี้?

Image

วันนั้นผมกับจอยไปสวนหลวง ร.9 จะไปลองกล้อง Pentax Spotmatic ที่เพิ่งซ่อม ตอนบ่ายแก่ๆ แสงกำลังสวย เราพากันเดินไปทางสระบัว แถวนั้นมีต้นไม้ใหญ่ ลีลาสวยงาม แผ่ร่มเงาไปทั่ว

จอยเห็นต้นไม้ต้นนั้น ก็เดินตรงเข้าไปนั่งลงตรงโคนต้นไม้ ทั้งๆ ที่มีม้านั่งอย่างดีให้นั่ง แบบที่สวนฯ จัดวางไว้ให้

หลังจากถ่ายรูปนี้และล้างออกมา ผมถามจอยว่าทำไมไม่นั่งม้านั่ง จอยบอกว่า “ชอบโคนต้นไม้มากกว่า และอีกอย่าง มันมีขวดพลาสติก เป็นขยะทิ้งอยู่ขวดหนึ่ง” ผมมองดูในรูป ปรากฏว่าเห็นจริงๆ เพิ่งเห็นว่าตรงขาของม้านั่ง มีขวดพลาสติกหน้าตาน่าเกลียดทิ้งอยู่ ถ้าผมเห็นตั้งแต่แรก ผมคงไม่ถ่ายรูปนั้น หรือเก็บขวดไปทิ้งเสียก่อน ซึ่งก็ไม่ค่อยอยากจะทำเพราะไม่ชอบจัดฉากถ่ายรูป

มองดูอีกที โคนต้นไม้ต้นนั้นน่าจะนั่งสบาย ลาดเอียงรองรับสรีระอย่างพอดี มากกว่าม้านั่งตรงๆ แข็งๆ ที่มีหลายสิบตัวและหน้าตาเหมือนกันหมดทั่วทั้งสวนฯ

ภาพนี้ถ่ายด้วย Pentax Spotmatic SPII เลนส์ Super-Takumar 1:1.4 50mm. ฟิล์ม Ilford HP5+ กล้องตัวนี้เป็นกล้องของพ่อสมัยอากงยังมีชีวิตอยู่ พ่อเริ่มต้นถ่ายภาพด้วยกล้องตัวนี้ ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ Nikon เป็นกล้อง SLR รุ่นแรกที่มีเครื่องวัดแสงแบบ TTL โด่งดังได้รับความนิยมมาก่อน Nikon ผมถอดออกมาเปลี่ยน Prism กับ Spotmatic อีกตัวของอากง ทุกอย่างยังใช้ได้ดี เป็นกล้องที่ถ่ายสนุก กระชับมือ และสวยคลาสสิค เลนส์ตัวนี้เป็น Single-coat ดังนั้นเวลาถ่ายย้อนแสงจะเห็น Flair และให้คอนทราสต์ต่ำกว่าเลนส์สมัยใหม่ แต่มีความคมชัดและเกรนที่เป็นเอกลักษณ์ได้อารมณ์ ใช้คู่กับฟิล์ม Ilford ให้บรรยากาศที่เนียนๆ ดูเหนือจริง

เมื่อไร้มนุษย์จึงสวย

Image

ลองสังเกตุดูว่าภาพถ่ายส่วนมากมีอะไรอยู่ในนั้น เกือบทุกภาพจะต้องมีสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นปะปนอยู่ไม่มากก็น้อย

ภาพนี้ไม่มีอะไรที่เป็นสิ่งประดิษฐ์เลย เป็นธรรมชาติล้วนๆ ผมถ่ายภาพนี้ตอนเช้าตรู่ที่หน้าหมู่บ้านที่เป็นบ้านเกิดของภรรยาที่จังหวัดขอนแก่น ช่วงนั้นเป็นฤดูเริ่มทำนา เห็นน้ำเจิ่งนองตามผืนดินไปทั่ว ฉากที่เห็นนั้นสวยสะดุดตามาก ผมคิดว่าถ้าเราตั้งใจมอง แทบทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติล้วนงามทั้งสิ้น มันเป็นความงามที่เห็นได้แค่มอง ไม่ต้องคิดและไม่ต้องค้นหา มันปรากฏตัวขึ้นมาเองโดยไม่ต้องเรียกร้องหา

เป็นเรื่องเศร้าที่ภาพถ่ายส่วนมากในปัจจุบันมักเป็นภาพของสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเป็นสิ่งสังเคราะห์ที่ผ่านกระบวนการผลิตซับซ้อน ห่างไกลจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ผมพบว่าเวลาไปถ่ายภาพในเมือง ต้องพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะมองหาความงามที่คู่ควรกับการบันทึกลงฟิล์ม ต่างกับเวลาอยู่กับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ที่มีฟิล์มเท่าไหร่ก็ไม่ค่อยพอ

ภาพนี้ถ่ายด้วยกล้อง Zorki-1 เป็นกล้องรัสเซียอายุ 60 ปี ผลิตเลียนแบบ Leica II ซึ่งมีมาก่อนนั้น 20 ปี ผมชอบทุกอย่างเกี่ยวกับกล้องนี้ โดยเฉพาะการออกแบบที่เรียบง่าย มีแต่สิ่งที่จำเป็น ไม่มีระบบแฟลช ไม่มีตัวตั้งเวลาถ่าย ไม่มีเครื่องวัดแสง ช่องมองใช้ได้กับเลนส์ 50 อย่างเดียว ผมชอบกล้องตัวนี้ เพราะความที่ว่ามันไม่มีอะไรเลย เราจึงไม่ต้องนึกถึงมันเวลาถ่ายภาพ เพียงแค่ทำให้มันเป็นส่วนขยายของตา เป็นเครื่องมือที่ทำตามสิ่งที่ใจเรานำพา โดยไม่รบกวนสมาธิและพลังความคิดของมนุษย์

ความเป็นไทยคืออะไร?

Image

ก่อนแต่งงานไม่กี่วัน จอยขอให้ผมถ่ายภาพขาวดำให้ โดยเธอจะแต่งชุดไทย บอกว่าจะเก็บไว้ดูตอนแก่

การถ่ายภาพสำหรับผมแล้ว คือการถ่ายทอดแก่นสารของความคิดและความรู้สึก ที่เราเห็นในฉากนั้นๆ ออกมาเป็นภาพถ่าย ที่เมื่อผู้ชมได้เห็นแล้ว ก็น่าจะสัมผัส มีความรู้สึก หรือค้นพบสาระสำคัญซึ่งอาจตรงหรือไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้ถ่ายตั้งใจจะสื่อสารหรือไม่ก็ไม่เป็นไร สิ่งสำคัญที่สุด คือผู้ชมต้องค้นพบสาระนั้นด้วยตนเอง โดยผ่านองค์ประกอบทางศิลปะ ที่มีความงาม ที่ทำให้หัวใจเป็นสุขและสงบ

ดังนั้น สิ่งที่ยากที่สุดของการถ่ายภาพในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะการถ่ายภาพที่ “จงใจถ่าย” เช่นภาพ Pre-wedding ภาพนี้ คือการต้องตกลงปลงใจให้ได้ว่า เราจะสื่ออะไร ซึ่งนำมาสู่คำถามที่ใหญ่กว่านั้น นั่นก็คือ เราเห็นอะไร เรารู้สึกอะไรกับคนหรือสิ่งที่เรากำลังจะถ่ายภาพ เราต้องรู้สึกให้ได้อย่างชัดเจนและลึกซึ้ง ถึงสภาวะหรือสภาพของคนหรือสิ่งของนั้น เราจึงจะสามารถสื่อสภาพนั้นออกมาได้อย่างบริสุทธิ์และเที่ยงตรง

สำหรับภาพนี้ สารที่ต้องการสื่อ คือความงามของความเป็นไทย แต่ปัญหาที่สำคัญ ก็คือความเป็นไทยนั้น หมายถึงอะไรกันแน่?

สำหรับผม ความเป็นไทยไม่ได้อยู่ที่เครื่องแต่งกาย ไม่ได้อยู่ที่ฉาก มีภาพชุดไทยมากมายที่ใช้เครื่องแต่งกายและฉากที่สมจริง หรือเป็นของแท้ ของดั้งเดิม แต่ไม่รู้สึก ไม่สัมผัสถึงความเป็นไทย ความเป็นไทยที่แท้จริงแล้ว อยู่ในหัวใจ อยู่ในทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิด ที่แสดงออกมาผ่านทุกสิ่งที่มนุษย์จะแสดงออกได้ เช่นอากัปกิริยา สีหน้า เครื่องแต่งกาย บ้าน นอกจากนั้น ความเป็นไทย ยังสะท้อนผ่านมุมมอง การจัดองค์ประกอบ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุและคนในฉากที่เราเห็น

สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นไทยในภาพนี้ และได้พยายามสะท้อนออกมา คือความเรียบง่าย ตรงไปตรงมาของความคิด, ท่วงท่าการแสดงออกที่กลมกล่อม ระงับยับยั้ง, ความมั่นใจ ซื่อตรง เด็ดเดี่ยว, ความนุ่มนวล เรียบร้อย ของวัสดุและเครื่องแต่งกาย และมุมมองของผู้ถ่าย ที่เรียงร้อยเชื่อมโยงคุณลักษณะทั้งหมดนี้ ผ่านการจัดองค์ประกอบของกรอบ คน ดอกไม้ โทนที่อ่อนนุ่ม และแสงที่สงบ

ภาพนี้ ถ่ายด้วยกล้อง Nikon F2A เลนส์ Nikkor 1:2 35mm. ฟิล์ม Kodak Tri-X push เป็น ISO 800. ล้างด้วย D-76 1:1 แล้ว Scan จากฟิล์มลง Adobe Camera Raw กล้องตัวนี้เป็นกล้องที่พ่อใช้นานที่สุด ติดตัวไปทุกที่เป็นสิบๆ ปี ผมนำมาปัดฝุ่น ถอดหัวทำความสะอาดกระจกด้านใน เครื่องวัดแสงก็ยังใช้ได้ดี เป็นกล้องที่แข็งแรง ทนทาน มีน้ำหนัก มั่นใจทุกครั้งที่ยกขึ้นถ่าย ส่วนเลนส์ 35 ตัวนี้ เพิ่งกลับมาจากการส่งไปถอดล้างเพราะราขึ้นเยอะ กลับมาใสคมเหมือนใหม่ คงได้อยู่ด้วยกันไปเรื่อยๆ อีกนาน